วันจันทร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2557

TTW ยุทธศาสตร์รีแบรนด์ธุรกิจ

ข่าวหุ้น - กระบอกเสียงอิสระแห่งตลาดทุน:: TTW ยุทธศาสตร์รีแบรนด์ธุรกิจ

รายงานพิเศษ วันอังคารที่ 18 มีนาคม 2557
ผู้เข้าชม : 3 คน
มติของการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2557 บริษัท น้ำประปาไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TTW เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2557 ที่ผ่านมา อนุมัติมติของคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ให้ทำการเปลี่ยนชื่อบริษัทฯ จากเดิม เป็น บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) หรือ TTW ถือเป็นมิติใหม่ของการรุกเดินหน้าทำธุรกิจที่มีความหมายลึกซึ้ง

เหตุผลที่นำมาใช้อธิบายการเปลี่ยนชื่อของบริษัทคือ การรีแบรนด์ภาพลักษณ์ของบริษัทเสียใหม่ เพื่อทำธุรกิจสาธารณูปโภคที่มากกว่าแค่ธุรกิจเดิมคือ ทำน้ำประปาอย่างเดียว เพื่อรักษาการเติบโตของบริษัทให้ยั่งยืนในอนาคต โดยเฉพาะการรุกธุรกิจเข้าไปในประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน รับกับการเปลี่ยนแปลงเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ทิศทางการดำเนินธุรกิจของ “น้ำประปาไทย” ในอดีต ซึ่งเปลี่ยนมาอยู่ภายใต้ชื้อของ TTW ใหม่นี้ จะไม่จำกัดตัวเองกับยุทธศาสตร์เดิมเพียงแต่ธุรกิจน้ำประปา แต่จะมุ่งเน้นเพิ่มน้ำหนักในธุรกิจพลังงานทางเลือกมากขึ้น เช่น การแปรรูปขยะเป็นพลังงาน และการบำบัดน้ำเสียชุมชน รวมถึงแผนขยายการลงทุนในต่างประเทศ เช่น พม่า เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทาง และเป้าหมาย


โครงการในอนาคตอันใกล้ในปี 2557 หลังการเปลี่ยนก็คือ TTW จะขยายกำลังการผลิตโรงจ่ายน้ำ 2 แห่ง คือ โรงจ่ายน้ำที่ปทุมธานี-รังสิต และโรงจ่ายน้ำที่จังหวัดสมุทรสาคร โดยจะใช้งบลงทุนประมาณ 2.2-2.5 พันล้านบาท คาดแล้วเสร็จประมาณ 2 ปี โดยเชื่อว่าเชื่อว่าตลอดทั้งปี 2557 บริษัทจะสามารถทำรายได้ได้ในระดับ 6 พันล้านบาท และกำไรสุทธิเติบโตใกล้เคียงกับปี 2556 ที่เติบโตในระดับ 13-14%


TTW ในชื่อเดิม ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2547 โดยทำธุรกิจเป็นผู้ผลิตน้ำประปาจ่ายให้กับการประปาส่วนภูมิภาค ภายใต้สัญญาสัมปทานของการประปาภูมิภาค (กปภ.) เพื่อให้บริการแก่ประชาชนผู้ใช้น้ำครอบคลุมพื้นที่ อ.สามพราน อ.พุทธมณฑล อ.นครชัยศรี และบางพื้นที่ใน อ.เมืองฯ จ.นครปฐม อ.กระทุ่มแบน และ อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร โดยมีระบบผลิตน้ำประปาที่โรงผลิตน้ำบางเลน อ.บางเลน จ.นครปฐม ที่ผลิตน้ำประปาจากแหล่งน้ำผิวดิน (แม่น้ำท่าจีน) ผ่านระบบท่อจ่ายน้ำสาขา ไปยังสถานีจ่ายน้ำพุทธมณฑล ถ.พุทธมณฑลสาย 5 ต.ไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม และสถานีจ่ายน้ำมหาชัย ถ.เศรษฐกิจ-พันธุวงษ์ ต.นาดี อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร และได้ซื้อสิทธิในการผลิตน้ำประปา และบำบัดน้ำเสียในนิคมฯ บางปะอิน

หลังจาก TTW ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และเข้าซื้อขายวันแรกเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2551 ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 3,990 ล้านบาท มีบริษัทย่อยและบริษัทร่วมอยู่ 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด ผลิตและจำหน่ายน้ำประปาให้การประปาส่วนภูมิภาคในพื้นที่ปทุมธานี และรังสิต โดยบริษัทฯ ถือหุ้นร้อยละ 98 และการประปาส่วนภูมิภาคถือหุ้นร้อยละ 2, บริษัท ไทยวอเตอร์โอเปอเรชั่นส์ จำกัด บริหารจัดการระบบผลิตและจ่ายน้ำประปาและระบบบำบัดน้ำเสีย ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้นร้อยละ 68 และยังเข้าถือหุ้นร้อยละ 25 ในบริษัทโฮลดิ้งเพื่อผลิตไฟฟ้าของเครือ ช.การช่าง บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP ด้วย

ที่ผ่านมา ผลประกอบการของ TTW ตอกย้ำให้เห็นว่าเป็นบริษัททางด้านสาธารณูปโภคที่ประสบความสำเร็จแข็งแกร่งอย่างมาก มีกำไรสุทธิต่อเนื่องทุกปี ถือเป็น “วัวที่ให้น้ำนมทองคำ” ของกลุ่ม ช. การช่างมาโดยตลอด โดยเฉพาะที่โดดเด่นมากเป็นพิเศษคือ อัตราส่วนกำไรสุทธิของบริษัทใน 4 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยต่ำกว่า 40% เลย ถือเป็นหนึ่งในบริษัทระดับ Top 10 ในตลาดหลักทรัพย์ไทยเลยทีเดียวที่มีอัตราส่วนกำไรสุทธิสูงเช่นนี้

ความน่าสนใจของการปรับยุทธศาสตร์ใหม่ของ TTW นับแต่การเปลี่ยนชื่อ จนถึงยุทธศาสตร์เพื่ออนาคตอื่นๆ อยู่ที่การเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลที่เป็นผู้บริหารสูงสุดของบริษัท จากซีอีโอใหญ่คนเก่าที่ชื่อนายสมโพธิ ศรีภูมิ ที่ลาออกจากทุกตำแหน่งในบริษัท นับแต่ กรรมการ กรรมการบริหาร กรรมการบริหารความเสี่ยง และกรรมการบรรษัทภิบาล เพื่อเปิดทางให้กับ นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ อดีตกรรมการบริหาร บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบริษัทในเครือ ช.การช่าง เข้าดำรงตำแหน่งแทน เพื่อสานต่อธุรกิจ

นายชัยวัฒน์ ได้ลาออกจากตำแหน่งใน BMCL ทั้งหมด เพื่อรับตำแหน่งใหม่ โดยให้เหตุผลว่า เพื่อไปรับตำแหน่งที่ท้าทายมากขึ้น และจะไม่เกี่ยวข้องกับรถไฟฟ้าเหมือนกับ BMCL หลังจากที่การเพิ่มทุนเพื่อดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ สัญญา 4 งานเดินรถและระบบรถไฟฟ้า ได้ดำเนินการไป ถือว่าลงตัวค่อนข้างมากแล้ว

นายชัยวัฒน์ ระบุว่า งานใหม่นี้ ถือเป็นงานที่ท้าทายอย่างมาก เพราะเป็นการสานต่อธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอยู่แล้วของกลุ่ม เพื่อที่จะสานต่อให้การเติบโตยั่งยืนมากขึ้นในอนาคต หลังจากที่ผ่านมาตนเองเคยทำงานแต่ประเภทที่ต้องเข้าไปผ่าตัดเพื่อเทิร์นอะราวด์ธุรกิจที่มีปัญหาให้ต้องแก้มาหลายครั้งตลอดการทำงานในฐานะนักการเมือง

หากย้อนดูปูมหลังของนายชัยวัฒน์ก็น่าจะสอดคล้องกับคำกล่าวดังกล่าวชัดเจน เพราะประวัติและปูมหลังอันยาวเหยียดของนายชัยวัฒน์ (ดูตารางประกอบปูมหลังนายชัยวัฒน์) จะเห็นได้ชัดเจนว่า นายชัยวัฒน์นั้น น่าจะถนัดกับงานประเภท “แก้ไขปัญหา” มากกว่างานสร้างโอกาสต่อยอดความสำเร็จ โดยเฉพาะการเข้าไปดำเนินการจัดการแก้ไขบริษัทที่ประสบปัญหาทางการเงินรุนแรง

โปรไฟล์การบริหารงานในฐานะมืออาชีพของนายชัยวัฒน์ ทำให้เขาได้ชื่อเสียงอย่างมากว่า เป็นนายธนาคารและผู้บริหารที่อยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลังควบรวมกิจการดีลใหญ่ๆ และผ่าตัดฐานะทางการเงิน มามากที่สุดคนหนึ่งในประเทศ เช่น ดีลของธนาคารไทยทนุและกลุ่มเอกธนกิจในช่วงฟองสบู่เศรษฐกิจไทยถึงจุดสูงสุดก่อนจะแตก ที่ต้องควบรวมกิจการกันตามคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทย และต่อมาถูกตามตัวให้เข้ามารับผิดชอบหลังกรณีการควบรวมกิจการระหว่างธนาคารนครหลวงไทยกับธนาคารศรีนคร

ผลงานอันโดดเด่นของนายชัยวัฒน์ยุคฟื้นตัวหลังวิกฤติต้มยำกุ้งที่เลื่องชื่ออย่างมากคือ การพลิกฟื้นสถานการณ์ของธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCIB จนได้ฉายาว่า เป็น "หมอผ่าตัดองค์กร" จนกระทั่งเมื่อธนาคารดังกล่าว มีการควบรวมกิจการของธนาคารธนชาต เขาก็ช่วยทำงานจนขั้นตอนการควบรวมแล้วเสร็จ จนกระทั่งเคยได้รับการยกย่องเป็นนักการธนาคารดีเด่นแห่งปี 2551 แล้วก็อำลาจากมา ก่อนที่จะย้ายมาทำกิจการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ในฐานะกรรมการผู้จัดการคนใหม่ของ BMCL ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT แทนนายสมบัติ กิจจาลักษณ์ ที่ขึ้นไปนั่งเก้าอี้รองประธานกรรมการบริหาร จากการเอ่ยปากชวนของ 'ปลิว ตรีวิศวเวทย์' ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK ที่ถือหุ้นใน BMCL สัดส่วนรวม 24.61% เป็นอันดับสอง รองจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

งานผ่าตัดใหญ่ของนายชัยวัฒน์ เพื่อปรับปรุงฐานะทางการเงินของ BMCL ที่ประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่องมาหลายปี นับแต่ปี 2553 ขาดทุน 1,113.51 ล้านบาท จนกระทั่งกลางปี 2556 ส่วนของผู้ถือหุ้นเหลือต่ำกว่า 1 พันล้านบาท แม้ว่าจะสามารถดำเนินการภายในหลายด้าน อาทิ การลดต้นทุน การทำเงินให้งอกเงย การบริหารคนให้องค์กรมีประสิทธิภาพ การรักษาสภาพคล่องทางการเงิน และการปรับ "ภาพลักษณ์" ใหม่ให้กับรถไฟฟ้าใต้ดิน ให้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคนกรุงเทพฯ การทำให้รถไฟฟ้าใต้ดินเป็น Life Style การเดินทาง "อันดับต้นๆ" ของคนเมือง ซึ่งในที่สุดก็หนีไม่พ้นที่จะต้องทำการเพิ่มขึ้นขนาดใหญ่ และประสบความสำเร็จด้วยดีในเดือนตุลาคม 2556

ผลจากการเพิ่มทุนของ BMCL มากถึง 8,550 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน โดยการเพิ่มทุนในส่วนที่ 1 (ขายหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม) และส่วนที่ 2 (ขายหุ้นให้บุคคลในวงจำกัด) แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2556 และส่วนสุดท้าย(ขายหุ้นให้บุคคลในวงจำกัด) แล้วเสร็จภายในมีนาคม 2557 เท่ากับภารกิจของนายชัยวัฒน์ที่ BMCL เสร็จสมบูรณ์โดยหลักการเรียบร้อยแล้ว ไม่มีอะไรให้ทำมากมายเหมือนเดิมอีกต่อไป

การปรับเปลี่ยนงานใหม่ของนายชัยวัฒน์ จึงเป็นความท้าทายเพราะ อย่างที่ทราบกันดีว่า ยุคแรกของการรุกทางธุรกิจของ TTW นั้น ประสบความสำเร็จดีเยี่ยมน่าอิจฉาเลยทีเดียว แต่ยุคที่สองซึ่งจะต้องขยายธุรกิจเติบโตต่อไป เป็นปริศนายิ่งใหญ่ที่ท้าทายอย่างยิ่งว่าจะสามารถรักษาการเติบโตของรายได้และผลกำไรในอนาคตได้อย่างยั่งยืนเพียงใด

โดยพื้นฐานของ TTWนักวิเคราะห์หุ้นประเมินตรงกันหลายสำนักว่าในปี 2557 คาดการณ์ยอดขายน้ำประปาจะเพิ่มขึ้นสม่ำเสมอ และมีการปรับอัตราค่าน้ำประปาใหม่ ทำให้มีโอกาสทำกำไรขึ้นมากขึ้นเป็น 2,811 ล้านบาท ในขณะที่บริษัทในกลุ่ม PTW จะกลับมาโตอีกครั้งในปี 2558 หลังกำลังการผลิตใหม่เข้ามา ทำให้คาดว่า ราคาพื้นฐานปรับเป็น 12.90 บาท แต่ประเด็นสำคัญไม่ใช่รายได้หรือกำไรในระยะอันใกล้ เพราะบริษัทนี้เรียกร้องต้องการวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่จะสามารถออกแบบโครงสร้างรายได้ใหม่ในอนาคตที่มากกว่าธุรกิจเดิมให้ก้าวไกลมากกว่าแค่ในประเทศอย่างเดียว

งานใหม่เช่นนี้ แม้จะดูขัดกับชื่อเสียงและภาพลักษณ์เก่าแก่ของนายชัยวัฒน์ที่เคยเป็น “หมอผ่าตัดองค์กร” มาก่อน แต่มองจากมุมของนักบริหารแล้ว นี่คือผลงานก่อนเกษียณที่ท้าทายอย่างยิ่งของนักการเงินที่คล่องแคล่วรอบตัวว่าจะสามารถแบกรับภารกิจใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม

ภารกิจของ TTW ในอนาคต เรียกร้องหาผู้บริหารที่เป็น “นักฝัน” ซึ่งเท่าติดดินมากกว่าผู้บริหารที่เป็น “นักแก้ปัญหา” ซึ่งนายชัยวัฒน์จะต้องปรับเปลี่ยนบทบาทครั้งสำคัญ ดังนั้น งานนี้จึงถือว่าเป็นความท้าทายของทั้ง TTW และนายชัยวัฒน์เองอย่างมีนัยสำคัญ

หากทำได้สำเร็จ นั่นหมายถึงอนาคตที่เติบใหญ่อย่างยั่งยืนของ TTW ในยุคที่สอง และตำนานหน้าใหม่ก่อนทิ้งทวนของนายชัยวัฒน์ว่าเป็นผู้บริหารที่ครบเครื่องไร้เทียมทานในฐานะมืออาชีพที่ช่ำชองสำหรับทุกสถานการณ์

posted from Bloggeroid

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น