วันเสาร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2556

อาบเหงื่อต่างน้ำ : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

อาบเหงื่อต่างน้ำ : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

อาบเหงื่อต่างน้ำ : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
หุ้นของบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจบางอย่างนั้น ถ้าเราลงทุนซื้อไว้ก็จะพบว่า ราคาหุ้นไม่ไปไหนและอาจจะตกต่ำอยู่นานมาก หุ้นบางตัวก็อาจจะให้ปันผลอยู่บ้างแต่ปันผลนั้นก็มักจะไม่ปรับตัวขึ้น หุ้นหลายตัวมีปันผลแต่ก็กระท่อนกระแท่นเพราะกำไรของบริษัทมีบ้างไม่มีบ้าง หุ้นหลายตัวแทบจะไม่มีปันผลเลยมีแต่ข่าวว่ายอดขายจะดีขึ้นและความหวังว่ากำไรจะมาแล้ว อนาคตกำลังจะ “สดใส” และหุ้นบางตัวหรือบางกลุ่มนั้น ในบางช่วงบางตอนอาจจะเป็น 2-3 ไตรมาศหรือ 2-3 ปี ก็แสดง “อภินิหาร” วิ่งขึ้นไปเป็นเท่า ๆ ตัวพร้อม ๆ กับปริมาณการซื้อขายที่คึกคักเต็มที่และผู้คนกล่าวขวัญกันมาก แต่หลังจากนั้น เมื่อภาวะทางอุตสาหกรรมกลับมาเป็นปกติ หุ้นก็ตกกลับลงมาและหงอยเหงาไปอีกนาน หุ้นต่าง ๆ เหล่านี้ ถ้าเราถือไว้ลงทุนระยะยาวหวังผลตอบแทนที่ดีแล้วละก็ ผมก็อยากจะเปรียบเทียบเหมือนกับคนที่ต้องทำงานหาเงินว่า เป็นงานที่ “อาบเหงื่อต่างน้ำ” หากินยากเหลือเกิน ลองมาดูกันว่ามีหุ้นกลุ่มไหนบ้าง
หุ้นกลุ่มแรกก็คือ หุ้นเหล็ก หรือหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมเหล็ก นี่คือหุ้นกลุ่มที่ “หนัก” ที่สุดในสายตาของผม เพราะตั้งแต่ผมเริ่มเข้าตลาดหุ้น หุ้นกลุ่มนี้เป็นหุ้นที่มี “เวลาดี ๆ” คือช่วงที่หุ้นขึ้นน้อยเหลือเกิน เมื่อมันขึ้นไป คนที่เข้าไปเล่นนั้น บางทียังตั้งหลักไม่ทันมันก็ลงมาซะแล้ว ทำให้คนเล่นขาดทุนกันมากมายและก็เลิกเล่นไปอีกนานจนลืมบทเรียนที่เจ็บปวดเพื่อที่จะกลับมาเล่นอีกเมื่อมันมีข่าวว่าราคาเหล็ก “กำลังขึ้น” และกำไรของบริษัทจะ “มโหฬาร” เป็นวัฏจักรกันแบบนี้มาช้านาน

ปัญหาของอุตสาหกรรมเหล็กก็คือ มันเป็นโภคภัณฑ์ที่มี Supply หรือมีวัตถุดิบและโรงงานเหลือเฟือในโลก ซึ่งทำให้มีการตัดราคากันอย่างสมบูรณ์ทำให้กำไรของผู้ผลิตมีน้อยมาก นาน ๆ ครั้งก็จะมีการขาดแคลนบ้างเนื่องจากความต้องการใช้เติบโตขึ้นมากระทันหันทำให้ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับยอดขายที่ค่อนข้างมากและสต็อกสินค้าที่มักจะสูง นี่ทำให้เกิด “กำไรจากสต็อก” สินค้ามากแต่บริษัทไม่ได้มีเงินสดจากกำไรนั้นที่จะเอาแบ่งปันกันมากมาย ผลก็คือ นักลงทุนที่เล่นหุ้นก็อาจจะเข้ามาซื้อเก็งกำไรทำให้ราคาหุ้นกระโดดขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาเหล็กนั้นมักจะสูงอยู่ได้ไม่นาน เพราะเมื่อราคาเหล็กปรับตัวขึ้น ผู้ผลิตทั่วโลกต่างก็จะเร่งผลิตเหล็กออกมาขายทำให้ราคาปรับตัวลงมา ซึ่งก็ทำให้บริษัทเหล็กขาดทุนจากสต็อกที่มีอยู่ นักลงทุนที่รู้ก่อนก็จะขายหุ้น ทำให้หุ้นตกลงมา วงจรของหุ้นเหล็กก็คือ หุ้นมักจะมีช่วงเวลาที่ดีสั้นมาก แต่มีเวลาที่ “เลวร้าย” ยาวมาก

ใกล้เคียงกับหุ้นเหล็กก็คือ หุ้นเรือ เพราะหุ้นขนส่งทางเรือนั้น มีลักษณะที่เป็น “โภคภัณฑ์” ที่มีการแข่งขันกันทั่วโลกเหมือนกัน เพียงแต่ว่าเรือนั้น มี Supply จำกัดมากกว่าเหล็ก ในยามที่โลกขาดแคลนเรือ ราคาค่าขนส่งก็วิ่งขึ้นไปมากทำให้กำไรของบริษัทเรือเติบโตขึ้น “มโหฬาร” แต่การต่อเรือใหม่นั้นใช้เวลามากกว่าการผลิตเหล็กเพิ่ม ดังนั้น หุ้นเรือจึงมีเวลาที่ดียาวนานกว่าหุ้นเหล็ก ในขณะที่หุ้นเหล็กอาจจะดีได้เพียง 2- 3 ไตรมาศ หุ้นเรืออาจจะดีได้ถึง 2-3 ปี เพราะเรือนั้นกว่าจะต่อเสร็จแต่ละลำต้องใช้เวลาเป็นปี ๆ อย่างไรก็ตาม เวลาที่ “เลวร้าย” ของหุ้นเรือนั้น ก็มักจะยาวกว่า “เวลาที่ดี” มาก ถ้าจะถามว่าอะไรเป็นเครื่องสังเกตว่าเวลาที่เลวร้ายกำลังจะผ่านไป คำตอบของผมก็คือ คงต้องรอจนกว่าบริษัทจะ “ขาดทุน” เพราะตราบใดที่บริษัทยังกำไร ผมก็คิดว่านั่นยังไม่ใช่เวลาที่เลวร้ายที่สุด

ต่อจากธุรกิจเรือแล้ว ผมคิดว่าธุรกิจการบินเองก็มีคุณสมบัติคล้าย ๆ กันในแง่ที่ว่ามันมีการแข่งขันกันดุเดือดและแข่งกัน “ทั่วโลก” เหมือนกันเพราะเครื่องบินนั้น “บินได้” ดังนั้น Supply จึงมีมากมายซึ่งทำให้การทำมาหากินนั้นยากลำบาก ต้อง “อาบเหงื่อต่างน้ำ” ว่าที่จริง บัฟเฟตต์เองก็เคยขาดทุนจากการลงทุนในหุ้นสายการบินมาแล้วและบอกว่ามันเป็นธุรกิจที่ยากลำบากจริง ๆ โดยเฉพาะในอเมริกาที่การบินนั้นมีการแข่งกันอย่างสมบูรณ์

อีกธุรกิจหนึ่งในตลาดหุ้นไทยที่ผมติดตามดูแล้วรู้สึกว่าคนที่ลงทุนคงจะ “เหนื่อย” เหลือเกินก็คืองานรับเหมาก่อสร้างงานอิฐ หิน ปูน ทราย หรือที่เรียกว่างาน Civil เช่น การก่อสร้างอาคาร ถนนหนทาง สะพาน ทางด่วน และสาธารณูปโภคอื่น ๆ อีกมาก นี่คืองานที่บริษัทต้องประมูลแข่งที่ราคาต่ำที่สุดเพื่อที่จะได้งาน นอกจากนั้น ผู้จ้างยังมักจะเป็นหน่วยงานราชการที่มีกฎระเบียบมากมาย การที่จะได้งานและส่งมอบงานมักจะต้องมี “ต้นทุน” ต่าง ๆ มากมายที่เราไม่รู้ ดังนั้น แม้ว่าจะมีงานในมือมหาศาล แต่กำไรของบริษัทรับเหมาก่อสร้างก็มักจะ “กระท่อนกระแท่น” ซึ่งทำให้ราคาหุ้น “กระท่อนกระแท่น” ตาม นาน ๆ ครั้งก็จะมี “ข่าวดี” ที่บริษัทอาจจะได้รับงานใหญ่และทำให้หุ้นวิ่งขึ้นไป แต่อยู่ได้ไม่นานเมื่อผลประกอบการปรากฏ หุ้นก็ตกลงไปที่เก่าและก็จะหงอยเหงาต่อไปอีกนาน การซื้อหุ้นรับเหมาสำหรับหลาย ๆ คนก็เป็นการ “อาบเหงื่อต่างน้ำ” อีกกลุ่มหนึ่ง

หุ้นสิ่งทอ หุ้นการเกษตร และหุ้นที่อยู่ในภาวะอุตสาหกรรม “ตะวันตกดิน” บางอย่างนั้น การลงทุนแม้ว่าบางบริษัทยังจ่ายปันผลค่อนข้างดี แต่หุ้นก็มักจะไม่ไปไหน ลงทุนไปแล้วก็ “เหนื่อย” หรือ “เบื่อ” บางบริษัทก็อาจจะต้อง “อาบเหงื่อต่างน้ำ” เหมือนกัน

หุ้นอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งอาจจะไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันแต่มีคุณลักษณะคล้ายกันก็คือ หุ้นที่ต้องอิงกับคนที่มีทักษะเฉพาะและมีเงินเดือนสูงและเป็นงานที่ต้องแข่งขันทางด้านราคาอาจจะโดยการประมูล ตัวอย่างเช่น หุ้น บริษัทที่ปรึกษาและรับงานทำระบบไอที หุ้นบริษัทโฆษณา หุ้นรับจัดงานอีเว้นท์ หุ้นของกิจการเหล่านี้มักจะเดินหน้าไปไม่ไกลแม้ว่าบริษัทจะมีกำไรพอใช้ได้และจ่ายปันผลพอสมควร เหตุผลก็เพราะว่าการขยายงานน่าจะโตไปได้ไม่มาก อาจจะเนื่องจากข้อจำกัดทางด้านบุคลากรและด้านของความต้องการของลูกค้าเอง การที่งานต้องพึ่งพิงคนที่มีความสามารถเฉพาะตัวมากทำให้การรักษาบุคลากรอาจจะทำได้ยาก เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ลูกจ้างที่เก่งมาก ๆ อาจจะสามารถออกไปตั้งกิจการเองได้ไม่ยากเนื่องจากธุรกิจไม่จำเป็นต้องใช้เงินทุนมาก ดังนั้น การลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้จึงหวังที่จะรวยยากแม้ว่าจะไม่ถึงกับเหนื่อยหนักเท่ากับธุรกิจอื่น ๆ ที่กล่าวข้างต้น

ที่เขียนมาทั้งหมดนั้น ก็มิได้หมายความว่าเราไม่ควรลงทุนซื้อหุ้นเหล่านั้นเลย เพราะในบางครั้งบางช่วงเวลา หุ้นเหล่านั้นก็ให้ผลตอบแทนที่โดดเด่นมาก เพียงแต่ว่าเราจำเป็นต้องรู้ว่าเวลานั้นคือเวลาไหน เช่นเดียวกัน เราต้องรู้ด้วยว่า หุ้นเหล่านั้นอาจจะมี “เวลาที่ดี” จำกัด ในขณะเดียวกัน เวลาที่ “แย่” หรือเวลาที่ “เลวร้าย” นั้นกลับยาวกว่ามาก อย่าให้สถานการณ์ช่วงสั้น ๆ ทำให้เราไขว้เขวกับธรรมชาติของธุรกิจ เพราะนั่นจะทำให้เราพลาดและเจ็บหนัก อย่าลืมว่านี่คือ ธุรกิจที่ต้อง “อาบเหงื่อต่างน้ำ” ไม่ใช่ธุรกิจที่ “หากินง่าย” อย่างหลาย ๆ ธุรกิจที่ไตรมาศแล้ว ไตรมาศเล่า ปีแล้ว ปีเล่า ผลการดำเนินงานก็เติบโตไปเรื่อย ๆ พร้อม ๆ กับราคาหุ้นที่จะตามกันไปต่อเนื่องยาวนาน



อาบเหงื่อต่างน้ำ

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โลกในมุมมองของ Value Investor

Monday, 2 July 2012

Excerpted from อาบเหงื่อต่างน้ำ : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
http://www.stock2morrow.com/showthread.php?t=54152

posted from Bloggeroid

วันจันทร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2556

หุ้นสื่อสารปีนี้กำไรโต 15% เด่นสุด INTUCH - SAMART

หุ้นสื่อสารปีนี้กำไรโต 15% เด่นสุด INTUCH - SAMART



โบรกประเมินกำไรกลุ่มสื่อสารปี 56 เติบโต 15% จากปีก่อน ให้น้ำหนัก "มากกว่าตลาด" แนะหุ้นเด่นในกลุ่ม INTUCH - SAMART

บล. เคเคเทรด ระบุว่า บริษัทกลุ่มสื่อสารที่ศึกษาส่วนใหญ่รายงานกำไร Q3/56 เป็นไปตามคาด ส่วนผลประกอบการใน Q4/56 คาดว่าบริษัทขนาดใหญ่ ADVANC , DTAC , TRUE INTUCH จะยังมีฐานค่าใช้จ่ายที่สูงต่อเนื่องจากเร่งทำตลาด 3G-2100 MHz และ เร่งย้ายฐานลูกค้า 2G ด้วยการสนับสนุนค่าใช้จ่ายการคงสิทธิ์เลขหมาย (Mobile Number Portability) ให้กับลูกค้า

นอกจากนี้สัมปทานคลื่น 1800 MHz (กระทบ ADVANC TRUE) ที่สิ้นสุดเมื่อวันที่ 15 ก.ย. ทำให้ ADVANC อาจทบทวนมูลค่าเงินลงทุน DPC เพิ่มขึ้นเพื่อสะท้อนอายุการใช้คลื่นความถี่ที่สั้นลง ประเมินจะมีค่าใช้จ่ายด้อยค่า 1.8 – 2 พันล้านบาท ส่วน TRUE จะปรับอายุการใช้ทรัพย์สินของคลื่นความถี่สิ้นสุด ก.ย.2557 ทำให้ค่าเสื่อมเพิ่ม 1.8 พันล้านบาทต่อไตรมาสจนถึง 3Q57

ด้าน JAS และ TRUE อยู่ระหว่างจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม (Infra Fund) ที่มีขนาดกองทุนฯ 6-7 หมื่นล้านบาทใกล้เคียงกัน แต่ผลประโยชน์จากการตั้ง TRUEGIF จะเป็นบวกต่อ TRUE มากจากอัตราหนี้สินสุทธิต่อทุนลดลงเหลือเพียง 2 - 3 เท่า จาก 21 เท่า และส่วนผู้ถือหุ้นเพิ่มเป็น 3 – 5 หมื่นล้านบาท จาก 5 พันล้านบาท และ ลดขาดทุนสะสมเหลือ 2 – 3 หมื่นล้านบาท จาก 6 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ JAS ยังมีความชัดเจนจากประโยชน์ของกองทุนน้อยกว่าเพราะเพิ่งได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้นฯ อีกทั้งความกังวลคำตัดสินศาลฎีกายกเลิกคำสั่งฟื้นฟูฯ และความเสี่ยงภาระหนี้เพิ่ม เรามองว่าราคาหุ้น TRUE ตอบรับผลบวกของ IFF ที่น่าจะเสนอขายหน่วยลงทุนได้ภายในเดือน ธ.ค. นี้ ขณะที่ JAS ยังค่อนข้าง Laggard จากผลบวกจากการตั้ง IFF

ทั้งนี้กสทช.จะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติประมูลใบอนุญาตดิจิตอลทีวี 24 ช่องธุรกิจกลางเดือน ธ.ค.และเปิดประมูลในเดือน ม.ค. 57 โดย INTUCH , SAMART , TRUE เป็นบริษัทที่ยื่นซองเข้าประมูล หากเทียบความพร้อมด้าน Content มองว่ากลุ่ม TRUE เด่นสุด ขณะที่ INTUCH ไม่มี Content ในมือ

ส่วน SAMART ซึ่งร่วมทุนกับสยามสปอร์ตมีจุดแข็ง Content ข่าวกีฬา ยังไม่รวมมูลค่าเพิ่มจากธุรกิจดิจิตอลทีวีไว้ในประมาณการ แต่มองการประมูลใบอนุญาตจะส่งผลบวกเชิงจิตวิทยาต่อหุ้น นอกจากนี้ มองว่าความคืบหน้าการประมูลคลื่น 1800 MHz ที่จะเกิดขึ้นช่วงกลางปี 2557 จะเป็นอีกประเด็นบวกต่อ ADVANC และ TRUE ที่เตรียมเข้าประมูล

ฝ่ายวิจัยคงน้ำหนักลงทุนกลุ่มสื่อสาร “มากกว่าตลาด” ประเมินว่าผลการดำเนินงานของบริษัท 12 แห่งที่ศึกษาจะมีกำไรเติบโตราว 15% จากปีก่อน ตามการฟื้นตัวของบริษัทขนาดใหญ่เริ่มเห็นผลบวกการประหยัดต้นทุนสัมปทานลดลง ทำให้มี PE ปี 2557 เฉลี่ยที่ 16 เท่า

สำหรับการลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ในกลุ่มสื่อสาร ชอบ INTUCH และ SAMART โดยประเมินว่า INTUCH จะมีมูลค่าเพิ่มจากธุรกิจดิจิตอลทีวีและไทยคม 7 คาดว่ายังคงจุดเด่นอัตราผลตอบแทนเงินปันผลต่อปี 5-6% และราคาหุ้นยัง Laggard

ส่วน SAMART มีจุดเด่นจากโครงสร้างธุรกิจที่เกื้อหนุนกัน ขณะที่บริษัทร่วมทุนที่อยู่ไปจนทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (Non listed) จะมีบทบาทต่อกำไรปี 2557 มากขึ้น เราคาดว่ากำไร SAMART จะมีอัตราการเติบโต 20% จากปีก่อน ขณะที่ราคาหุ้นซื้อขาย PE ปี 57 ที่ 10 เท่า

นอกจากนี้เราปรับคำแนะนำ DTAC, THCOM และ INET เป็น “ซื้อ” (เดิม “ถือ”) หลังจากที่ราคาหุ้นลงมามากและมี Upside เกิน 10%




03 ธ.ค. 56 10:30 โดย : Rubio
intuch ลงมาเยอะมากๆ สำหรับใครที่สนใจจริงๆก็เป็นจังหวะที่ดีเหมือนกันนะครับ
03 ธ.ค. 56 10:37 โดย : SiTh LoRd PaCk

ตอบกลับกระทู้กลับไปหน้าแรก

เข้าเว็บไซต์แบบปกติ

© COPYRIGHT 2013 STOCK2MORROW

posted from Bloggeroid